โครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 1

 “ปรัชญาลุ่มน้ำอิง : พุทธนวัตกรรมเพื่อการเสริมสร้างสังคมสันติสุข”

ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

วันเสาร์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 (Onsite & Online)

  1. 1. หลักการและเหตุผล

          ศาสนาและวัฒนธรรมมักถูกหยิบยกขึ้นมาในฐานะเป็นแกนกลางทางจิตใจ เป็นกรอบแห่งความประพฤติของประชาชนในสังคม พระพุทธศาสนานอกจากจะมีพระธรรม คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วยัง มีวัดและพระสงฆ์ วัดและพระสงฆ์กับประชาชนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานสาธารณสงเคราะห์ของชุมชนด้วย เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบทางสังคมเป็นอย่างมาก พระสงฆ์และประชาชนตระหนักในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น วัดมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ประชาชนห่วงใยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งของชีวิตนอกเหนือจากการประกอบสัมมาชีพ พระพุทธศาสนาจึงเป็นเสาหลักของสังคม ช่วยให้ความรู้ อบรมแนวทางปฏิบัติให้ประชาชนได้ ทั้งการให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ช่วยสร้างการรับรู้และทำให้ประชาชนมีสติเดินหน้ารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจต่อไปด้วย

          การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจัดเป็นกระบวนการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาทุกยุค ทุกสมัยและทุกสังคม หากจะแตกต่างกันไปบ้างในเรื่องวิธีการและลักษณะของการเปลี่ยนแปลง สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในอดีตนั้นเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ยังมีน้อย และระบบการสื่อสารคมนาคมยังไม่ค่อยพัฒนาก้าวหน้าเท่ากับปัจจุบัน การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจึงเป็นไปค่อนข้างยาก แต่เมื่อเทคโนโลยีและสารสนเทศของทุกสังคมมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วและเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถควบคุมได้ และปัจจัยที่กำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ แรงกดดันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมความเจริญทางเทคโนโลยี และระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมรวมถึงวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา

          มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยามีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวสู่ “มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่สร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุข” ส่งเสริมให้มีการวิจัยและค้นคว้าเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก โดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนาคุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนาโดยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพนักวิจัยและงานวิจัยให้มีคุณภาพและความเป็นสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ และพุทธนวัตกรรมเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาชุมชน สังคม ประเทศชาติโดยใช้หลักพุทธศาสนา ตามเป้าหมายหลักของนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ                              

          จากความสำคัญดังกล่าว วิทยาเขตพะเยาและหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการพัฒนาผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเชิงพุทธบูรณาการเพื่อการเสริมสร้างสังคมสันติสุข จึงกำหนดจัดโครงการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “ปรัชญาลุ่มน้ำอิง พุทธนวัตกรรมเพื่อการเสริมสร้างสังคมสันติสุข” ขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้จากนักวิชาการ คณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษา ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพงานวิจัยในศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาประเทศชาติ พร้อมยังสามารถสร้างเครือข่ายในการเรียนรู้การวิจัยกับนานาประเทศต่อไป

2. วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอและเผยแพร่บทบาทผลงานวิจัย งานสร้างสรรค์ และพุทธนวัตกรรมเพื่อการเสริมสร้างสังคมสันติสุข
  2. เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการทางพุทธนวัตกรรมในระดับชาติ
  3. เพื่อส่งเสริมและสร้างเครือข่ายงานวิจัยและผลงานสร้างสรรค์ในระดับชาติ

  3. หน่วยงานความร่วมมือ

  1. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา
  2. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  3. 3. บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  4. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่
  5. วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  6. วิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  7. วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  8. มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (ล้านนา)
  9. มหาวิทยาลัยพะเยา
  10. คณะสงฆ์จังหวัดพะเยา
  11. มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  12. สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  13. สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  14. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  15. มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  16. วิทยาลัยบรมราชชนนีพะเยา
  17. สถาบันปวงผญาพยาว
  18. พะเยาทีวี
  19. สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
  20. สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง
  21. เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมือง พะเยา
  22. มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

  1. กลุ่มเป้าหมายโครงการ

          ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา จำนวน 300 รูป/คน ดังนี้

  • คณาจารย์ นักวิชาการ ผู้บริหารและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • คณาจารย์ นักวิชาการ ผู้บริหาร และบุคลากรจากส่วนงานภายนอก
  • ผู้ทรงคุณวุฒิฯ จากหน่วยงานภายนอก

5. วันและสถานที่ดำเนินการ

          วันเสาร์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา (Onsite & Online)

6. เปิดรับบทความวิจัยและบทความวิชาการในประเด็น

  1. พุทธนวัตกรรมเสริมสร้างสังคมและชุมชนสันติสุข
  2. การพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่
  3. องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. องค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 7. รูปแบบการสัมมนา

  1. การเสวนาทางวิชาการ
  2. การนำเสนอผลงานวิจัยจากเครือข่าย
  3. การนำเสนอผลงานวิชาการภาคบรรยาย
  4. การนำเสนอผลงานวิชาการภาคโปสเตอร์