ประวัติความเป็นมา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ตั้งอยู่เลขที่ 566 หมู่ที่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เปิดทำการสอนประกอบด้วยหลักสูตรดังนี้

ปริญญาตรี

– หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนาชื่อปริญญา : พธ.บ. (พระพุทธศาสนา)
– หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทยชื่อปริญญา : ค.บ. (การสอนภาษาไทย)
– หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตรบัณฑิตชื่อปริญญา : ร.บ.

ปริญญาโท

– หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนาชื่อปริญญา : พธ.ม. (พระพุทธศาสนา)
– หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ชื่อปริญญา : ร.ม.

ปริญญาเอก

– หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนาชื่อปริญญา : พธ.ด. (พระพุทธศาสนา)

 

ปฐมเหตุการจัดตั้ง

พ.ศ. 2533

พระครูสิริธรรมเมธี ผู้ช่วยคณบดีคณะพุทธศาสตร์, ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์วิทยาเขตเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมกันปรึกษากับพระเทพวิสุทธิเวที รองเจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ เพื่อขยายห้องเรียนวิทยาเขตเชียงใหม่มาเปิดสอนที่จังหวัดพะเยา

วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้มีการประชุมพระสังฆาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดพะเยา เรื่อง การเปิดสาขาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ ณ วัดศรีโคมคำ ที่ประชุมมีมติรับหลักการ

พ.ศ. 2534

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ได้มีการประชุมพระสังฆาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดพะเยา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์พะเยา สาขาวิทยาเขตเชียงใหม่ ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งได้ ณ วัดศรีโคมคำ พร้อมกับได้ประกาศมติที่ประชุมให้แต่งตั้งบุคคลและคณะบุคคลดำเนินการจัดตั้งต่อไป
วิทยาลัยสงฆ์พะเยา จัดตั้งขึ้นตามประกาศคณะสงฆ์จังหวัดพะเยา ที่ ๑/๒๕๓๔ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ ลงนามโดย พระโสภณธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดพะเยา โดยมีพระเทพวิสุทธิเวที เป็นประธานกรรมการบริหาร พระโสภณธรรมเมธี เป็นผู้อำนวยการ ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร เป็นหัวหน้าสำนักงาน พระมหาณรงค์ ฐิตเมโธ เป็นเลขานุการสำนักงาน

วิทยาลัยสงฆ์พะเยา เปิดรับนิสิตบาลีอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 1 – 30 เดือนเมษายน พ.ศ. 2534 มีนิสิตสมัครเรียนชั้นปีที่ 1 จำนวน 49 รูป เปิดดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นมา โดยมีคณาจารย์ประจำ 3 รูป/ท่าน อาจารย์พิเศษ 5 รูป/ท่าน เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 3 รูป/ท่าน

เปิดอาคารธรรมวิมลโมลี สำนักงาน มจร พะเยา วัดศรีโคมคำ
11 กรกฎาคม 2542

 

การดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขต

ในการดำเนินการเพื่อขออนุมัติจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ ยกฐานะเป็น วิทยาเขตพะเยานั้น กรรมการบริหารวิทยาลัยสงฆ์พะเยา ได้มอบหมายให้บุคคลและคณะบุคคลดำเนินการ ดังนี้

  1. มอบหมายให้พระครูปริยัติกิตติคุณ, พระมหาณรงค์ ฐิตเมโธ, ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร จัดทำงบประมาณ เพื่อเสนอของบประมาณอุดหนุนประจำปีงบประมาณ 2535 จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
  2. มอบหมายให้ นายมาณพ พลไพรินทร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาดำเนินการของบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนา
  3. มอบหมายให้ ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส และคณะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสานงานกับอธิการบดี กรรมการบริหารและและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อดำเนินการขออนุมัติเป็นวิทยาเขต

วันที่ 6 กรกฎาคม 2534 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ แจ้งข่าวด่วนเรื่อง อธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ ให้ผู้แทนวิทยาสงฆ์พะเยาไปร่วมชี้แจงการของบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนา ณ มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพ ฯ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 เวลา 14.00 น.

วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ตัวแทนผู้บริหารวิทยาลัยสงฆ์พะเยา นำโดยพระเทพวิสุทธิเมธี เป็นหัวหน้าคณะได้ไปร่วมประชุมชี้แจงการของบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนาตามวันเวลาดังกล่าว

วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 คณะจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ ได้มาตรวจเยี่ยมวิทยาลัยสงฆ์ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติเป็นวิทยาเขตต่อไป

วันที่ 9 สิงหาคม 2534 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ แจ้งให้วิทยาลัยสงฆ์พะเยาเดินทางไปรับเรื่องการดำเนินการจัดตั้งเป็นวิทยาเขตที่มหาวิทยาลัยและเข้าพบอธิการบดี วันที่ 11 สิงหาคม 2534 เวลา 13.00 น.

วันที่ 11 สิงหาคม 2534 ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร และพระมหาณรงค์ ฐิตเมโธ เข้าพบอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อขอคำแนะนำและระเบียบการดำเนินการขอจัดตั้งวิทยาเขต

วันที่ 14 สิงหาคม 2534 พระเทพวิสุทธิเมธี และคณะได้เดินทางไปมอบเอกสารดังกล่าวต่ออธิการบดี กรรมการบริหาร (บางท่าน) ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ

วันที่ 18 สิงหาคม 2534 ที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ มีมติอนุมัติวิทยาลัยสงฆ์พะเยา เป็น วิทยาเขต ในนาม “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตพะเยา” ตามประกาศมหาวิทยาลัย ที่ 40/2534 เรื่อง ตั้งวิทยาเขตพะเยา ประกาศ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2534 ลงนามโดยพระสุเมธาธิบดี สภานายกมหาวิทยาลัย

ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 114 ตอนที่ 51 ก วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ทำให้สถานภาพของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล

วิทยาเขตพะเยา จึงเป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2541 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ประกาศ ณ วันที่ 30 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541


เปิดปฐมนิเทศวิทยาลัยสงฆ์พะเยาครั้งแรก
17 พฤษภาคม 2534

ทำเนียบผู้บริหาร
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา

พระเดชพระคุณหลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(ปวง ธมฺมปญฺโญ)
รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา
รูปที่ 1
ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2534-2540
พระเดชพระคุณพระเทพญาณเวที
(ศรีมูล มูลสิริ)
รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา
รูปที่ 2
ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2540-2561
พระเดชพระคุณพระราชปริยัติ, รศ.ดร.
(ณษิกรณ์ อรินฺทโม)
รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา
รูปที่ 3
ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2561-2566
พระเมธีวชิรคุณ, รศ.ดร.
(ศรีบรรดร ถิรธมฺโม)
รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา
รูปปัจจุบัน
ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน

ปรัชญา วิทยาเขตพะเยา

สร้างผู้นำทางพระพุทธศาสนา
ให้การศึกษาพระพุทธศาสนา
บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม

ปณิธาน วิทยาเขตพะเยา

สร้างผู้นำทางพระพุทธศาสนา ให้การศึกษาตลอดชีวิต
ผลิตให้นิสิตเก่งและดี
ให้มีการศึกษาและวิจัยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

วิสัยทัศน์ วิทยาเขตพะเยา

“เป็นสถาบันเผยแผ่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา พุทธนวัตกรรม และสร้างชุมชนสันติสุข”

พันธกิจ วิทยาเขตพะเยา

จัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม
วิจัยและพัฒนาพุทธนวัตกรรม สู่ชุมชนสันติสุขอย่างยั่งยืน
บริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนที่ยั่งยืน
อนุรักษ์ สืบสาน พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์บัณฑิต

เอกลักษณ์ วิทยาเขตพะเยา  : บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
อัตลักษณ์ วิทยาเขตพะเยา : ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม
อัตลักษณ์บัณฑิต วิทยาเขตพะเยา : ถึงพร้อมด้วยวิชาความรู้และความประพฤติ