ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ตั้งอยู่เลขที่ 566 หมู่ที่ 2 ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เปิดทำการสอนประกอบด้วยหลักสูตรดังนี้
ปริญญาตรี
– หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา | ชื่อปริญญา : พธ.บ. (พระพุทธศาสนา) |
– หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาไทย | ชื่อปริญญา : ค.บ. (การสอนภาษาไทย) |
– หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต รัฐศาสตรบัณฑิต | ชื่อปริญญา : ร.บ. |
ปริญญาโท
– หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา | ชื่อปริญญา : พธ.ม. (พระพุทธศาสนา) |
– หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ | ชื่อปริญญา : ร.ม. |
ปริญญาเอก
– หลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา | ชื่อปริญญา : พธ.ด. (พระพุทธศาสนา) |
ปฐมเหตุการจัดตั้ง
พ.ศ. 2533
พระครูสิริธรรมเมธี ผู้ช่วยคณบดีคณะพุทธศาสตร์, ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์วิทยาเขตเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมกันปรึกษากับพระเทพวิสุทธิเวที รองเจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ เพื่อขยายห้องเรียนวิทยาเขตเชียงใหม่มาเปิดสอนที่จังหวัดพะเยา
วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้มีการประชุมพระสังฆาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดพะเยา เรื่อง การเปิดสาขาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ ณ วัดศรีโคมคำ ที่ประชุมมีมติรับหลักการ
พ.ศ. 2534
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ได้มีการประชุมพระสังฆาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดพะเยา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง จัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์พะเยา สาขาวิทยาเขตเชียงใหม่ ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งได้ ณ วัดศรีโคมคำ พร้อมกับได้ประกาศมติที่ประชุมให้แต่งตั้งบุคคลและคณะบุคคลดำเนินการจัดตั้งต่อไป
วิทยาลัยสงฆ์พะเยา จัดตั้งขึ้นตามประกาศคณะสงฆ์จังหวัดพะเยา ที่ ๑/๒๕๓๔ วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ ลงนามโดย พระโสภณธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดพะเยา โดยมีพระเทพวิสุทธิเวที เป็นประธานกรรมการบริหาร พระโสภณธรรมเมธี เป็นผู้อำนวยการ ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร เป็นหัวหน้าสำนักงาน พระมหาณรงค์ ฐิตเมโธ เป็นเลขานุการสำนักงาน
วิทยาลัยสงฆ์พะเยา เปิดรับนิสิตบาลีอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 1 – 30 เดือนเมษายน พ.ศ. 2534 มีนิสิตสมัครเรียนชั้นปีที่ 1 จำนวน 49 รูป เปิดดำเนินการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นมา โดยมีคณาจารย์ประจำ 3 รูป/ท่าน อาจารย์พิเศษ 5 รูป/ท่าน เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 3 รูป/ท่าน
เปิดอาคารธรรมวิมลโมลี สำนักงาน มจร พะเยา วัดศรีโคมคำ
11 กรกฎาคม 2542
การดำเนินการจัดตั้งวิทยาเขต
ในการดำเนินการเพื่อขออนุมัติจัดตั้งวิทยาลัยสงฆ์ ยกฐานะเป็น วิทยาเขตพะเยานั้น กรรมการบริหารวิทยาลัยสงฆ์พะเยา ได้มอบหมายให้บุคคลและคณะบุคคลดำเนินการ ดังนี้
- มอบหมายให้พระครูปริยัติกิตติคุณ, พระมหาณรงค์ ฐิตเมโธ, ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร จัดทำงบประมาณ เพื่อเสนอของบประมาณอุดหนุนประจำปีงบประมาณ 2535 จากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
- มอบหมายให้ นายมาณพ พลไพรินทร์ หัวหน้าฝ่ายบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาดำเนินการของบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนา
- มอบหมายให้ ผศ.รุ่งเรือง บุญโญรส และคณะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประสานงานกับอธิการบดี กรรมการบริหารและและกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อดำเนินการขออนุมัติเป็นวิทยาเขต
วันที่ 6 กรกฎาคม 2534 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ แจ้งข่าวด่วนเรื่อง อธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ ให้ผู้แทนวิทยาสงฆ์พะเยาไปร่วมชี้แจงการของบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนา ณ มหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพ ฯ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 เวลา 14.00 น.
วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 ตัวแทนผู้บริหารวิทยาลัยสงฆ์พะเยา นำโดยพระเทพวิสุทธิเมธี เป็นหัวหน้าคณะได้ไปร่วมประชุมชี้แจงการของบประมาณอุดหนุนจากกรมการศาสนาตามวันเวลาดังกล่าว
วันที่ 23 กรกฎาคม 2534 คณะจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ ได้มาตรวจเยี่ยมวิทยาลัยสงฆ์ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติเป็นวิทยาเขตต่อไป
วันที่ 9 สิงหาคม 2534 มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ แจ้งให้วิทยาลัยสงฆ์พะเยาเดินทางไปรับเรื่องการดำเนินการจัดตั้งเป็นวิทยาเขตที่มหาวิทยาลัยและเข้าพบอธิการบดี วันที่ 11 สิงหาคม 2534 เวลา 13.00 น.
วันที่ 11 สิงหาคม 2534 ร.ท.ปรีชา หอมประภัทร และพระมหาณรงค์ ฐิตเมโธ เข้าพบอธิการบดี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการวิทยาเขต กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อขอคำแนะนำและระเบียบการดำเนินการขอจัดตั้งวิทยาเขต
วันที่ 14 สิงหาคม 2534 พระเทพวิสุทธิเมธี และคณะได้เดินทางไปมอบเอกสารดังกล่าวต่ออธิการบดี กรรมการบริหาร (บางท่าน) ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ
วันที่ 18 สิงหาคม 2534 ที่ประชุมกรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฯ มีมติอนุมัติวิทยาลัยสงฆ์พะเยา เป็น วิทยาเขต ในนาม “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตพะเยา” ตามประกาศมหาวิทยาลัย ที่ 40/2534 เรื่อง ตั้งวิทยาเขตพะเยา ประกาศ ณ วันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2534 ลงนามโดยพระสุเมธาธิบดี สภานายกมหาวิทยาลัย
ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 114 ตอนที่ 51 ก วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ทำให้สถานภาพของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐบาล
วิทยาเขตพะเยา จึงเป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2541 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ประกาศ ณ วันที่ 30 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541
เปิดปฐมนิเทศวิทยาลัยสงฆ์พะเยาครั้งแรก
17 พฤษภาคม 2534
ทำเนียบผู้บริหาร
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา
พระเดชพระคุณหลวงปู่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา รูปที่ 1 ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2534-2540 |
พระเดชพระคุณพระเทพญาณเวที (ศรีมูล มูลสิริ) รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา รูปที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2540-2561 |
พระเดชพระคุณพระราชปริยัติ, รศ.ดร. (ณษิกรณ์ อรินฺทโม) รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา รูปที่ 3 ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2561-2566 |
พระเมธีวชิรคุณ, รศ.ดร. (ศรีบรรดร ถิรธมฺโม) รองอธิการบดีวิทยาเขตพะเยา รูปปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน |
ปรัชญา วิทยาเขตพะเยา
สร้างผู้นำทางพระพุทธศาสนา ให้การศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม |
ปณิธาน วิทยาเขตพะเยา
สร้างผู้นำทางพระพุทธศาสนา ให้การศึกษาตลอดชีวิต ผลิตให้นิสิตเก่งและดี ให้มีการศึกษาและวิจัยศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น |
วิสัยทัศน์ วิทยาเขตพะเยา
“เป็นสถาบันเผยแผ่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา พุทธนวัตกรรม และสร้างชุมชนสันติสุข” |
พันธกิจ วิทยาเขตพะเยา
จัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม วิจัยและพัฒนาพุทธนวัตกรรม สู่ชุมชนสันติสุขอย่างยั่งยืน บริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อพัฒนาเครือข่ายชุมชนที่ยั่งยืน อนุรักษ์ สืบสาน พระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ |
เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์บัณฑิต
เอกลักษณ์ วิทยาเขตพะเยา : บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา อัตลักษณ์ วิทยาเขตพะเยา : ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม อัตลักษณ์บัณฑิต วิทยาเขตพะเยา : ถึงพร้อมด้วยวิชาความรู้และความประพฤติ |